24 กุมภาพันธ์ 2020


กางเกงยีนส์ริมแดง หรือ ยีนส์ผ้าริมคืออะไร?
ผ้าริม หรือ Selvedge มาจากคำว่า “self-edge” หรือริมของตัวผ้าเอง ซึ่งผลิตจากเครื่องทอแบบเก่าหรือที่เรียกว่า Shuttle Loom ที่เป็นเครื่องทอหน้าแคบ การทอนี้จะต้องมีการควบคุมคุณภาพที่สูงกว่าผ้าทอทั่วไป ซึ่งในการผลิตยีนส์ผ้า Selvedge นี้ ครั้งหนึ่งจะได้จำนวนที่ไม่มาก ต้นทุนการผลิตสูง ที่ริมขอบผ้าจะมีด้ายเย็บเพื่อให้ผ้าไม่ลุ่ย จึงทำให้กางเกงยีนส์ทนทานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ริมผ้าหรือ Selvedge จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็นยีนส์คุณภาพสูงที่มีความพรีเมี่ยมในตัวเอง ความกว้างของหน้าผ้าระหว่าง “ผ้าริม” และ “ผ้าไม่มีริม”

กระบวนการผลิตยีนส์ผ้าริม
วิธีการทำงานของเครื่องทอ Shuttle Loom เป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ไม่ยาก หลักการคือการวางด้ายแนวดิ่งหรือด้ายยืน (The wrap yarns) ไว้ที่ตัวเครื่องทอ ส่วนตัวกระสวย (Shuttle) บรรจุด้ายแนวนอนหรือด้ายพุ่ง (The horizontal filler yarns) และส่งกระสวยไปในระนาบแนวนอนให้ด้ายยืนและด้ายพุ่งบรรจบกันและกลายเป็นผืนผ้า ตัวกระสวยที่ถูกส่งพุ่งไป-กลับตามแนวระนาบของเครื่องทอครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างสรรค์ให้เกิดริมจบที่ขอบผ้า ซึ่งโรงทอผ้าได้ใช้ด้ายสีขาวธรรมชาติไปพร้อมกับด้ายสีจนเกิดเป็นริมผ้าที่มีเส้นสี กลายเป็นผ้าริมสีที่มีคุณค่าในปัจจุบัน
ความแตกต่างระหว่าง “ยีนส์ผ้าริม” และ “ยีนส์ที่ไม่ได้ใช้ผ้าริม”
โดยทั่วไปแล้ว ถ้าหากมองผิวเผิน มองแบบผ่านๆ จะเห็นว่ามีความคล้ายหรือเหมือนกันแบบมากๆ แต่ถ้าหากลองพับขาของกางเกงยีนส์ดู จะสังเกตได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งยีนส์ผ้าริมจะมีขอบของผ้าที่ทอเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ด้ายหลุดหลุ่ยออกมา ผ้าริมจะเป็นผ้าหน้าแคบ การตัดกางเกงยีนส์ริมแดงขายาว 1 ตัว มักจะใช้ผ้าหน้ากว้างประมาณ 3 หลา ส่วนผ้าที่ไม่มีริม การตัดกางเกงยีนส์ขายาว อาจจะใช้ประมาน 1.5 – 2 หลา ทำให้กางเกงยีนส์ที่ใช้ผ้าริม จึงมีราคาที่แพงกว่า เพราะใช้จำนวนหลาผ้าที่เยอะกว่า และผลิตได้จำนวนที่น้อยกว่า ซึ่งจะทำให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานที่มากกว่ากางเกงยีนส์ธรรมดาทั่วไป